“สิว” ที่เกิดขึ้นบนใบหน้าของเรา เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน กรรมพันธุ์ ผิวพรรณ หรือแม้แต่ความสิ่งสกปรกตกค้างบนใบหน้า เครื่องสำอาง ที่ล้างทำความสะอาดไม่หมด รวมไปถึง มลภาวะและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แต่รู้ไหมว่า ตำแหน่งสิวบนใบหน้าบอกอะไรได้บ้าง เพราะบางครั้ง การมีสิว อาจกำลังสะท้อนว่าร่างกายกำลังผิดปกติ ยิ่งถ้าเป็นสิวเรื้อรัง รักษายาก รักษาไม่หาย และมักจะขึ้นที่เดิม ๆ มาลองเช็กกันดูดีกว่า ว่าตำแหน่งสิวบอกโรคหรือกำลังฟ้องความผิดปกติในร่างกายอยู่หรือเปล่า พร้อมกับวิธีการดูแลผิวจากปัญหาสิวในตำแหน่งต่าง ๆ ควรทำอย่างไร
สิวที่หน้าผาก
สิวบริเวณหน้าผาก มักเป็นสิวอุดตัน หรือสิวอักเสบขนาดใหญ่ สาเหตุมาจากการระบบย่อยอาหารมีปัญหา กินอาหารที่ไม่เหมาะสม พักผ่อนน้อย กระเพาะปัสสาวะหรือต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ขับถ่ายไม่เป็นเวลา หากตำแหน่งสิวหน้าผากส่วนบน บ่งบอกว่าลำไส้ทำงานผิดปกติ แต่ถ้าเกิดสิวหน้าผากส่วนกลาง แสดงว่ามีความเครียด
วิธีแก้ปัญหาสิวที่หน้าผาก : ทานอาหารให้ตรงเวลา เลือกทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ งดของหวาน ๆ หรืออาหารไขมันสูง เน้นทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ร่างกายของเสียได้ง่ายขึ้น
สิวที่คิ้ว
สิวบริเวณคิ้วมักเป็นสิวอักเสบเม็ดเล็ก ๆ บ่งบอกว่าระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ตับทำงานหนัก ซึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมัน กินอาหารมื้อดึกบ่อย ๆ หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาลแล็กโทสในนมไม่ย่อย ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
วิธีแก้ปัญหาสิวบริเวณคิ้ว : เลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ งดทานอาหารมื้อดึกและอาหารรสจัด ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มนมสูตรแล็กโทสฟรี หรือดื่มนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้แทนนมวัว และทานผักใบเขียว ปลาทูน่า น้ำมันตับปลา
สิวที่แก้ม
สิวบริเวณแก้ม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ สิวขึ้นที่แก้มส่วนบน และ สิวที่แก้มส่วนล่าง หากแก้มส่วนบนมีสิว แสดงว่ากำลังมีปัญหาที่ระบบไซนัสและปอด โดยมักเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือการสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ มลภาวะรอบด้าน ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ หรือการเป็นหวัดเรื้อรัง แต่ถ้ามีสิวขึ้นตรงแก้มล่าง บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพช่องปาก มีอาการเจ็บเหงือก ฟันผุ หรือทำความสะอาดใบหน้าไม่ดี และยังรวมไปถึงการใช้โทรศัพท์แนบแก้มบ่อยมากเกินไป
วิธีแก้ปัญหาสิวขึ้นที่แก้ม : หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลภาวะ ฝุ่นควัน หรือพื้นที่อับชื้น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หมั่นทำความสะอาดใบหน้า เลี่ยงการสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น งดสูบบุหรี่ งดอาหารแปรรูป ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ทานอาหารที่มีวิตามินซี ธัญพืช ผักใบเขียว นม และ เนื้อปลา
สิวที่จมูก
บริเวณจมูกมีสิวขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมีต่อมไขมันอยู่มาก สิวตรงจมูกบ่งบอกถึงระบบไหลเวียนเลือด อาการทางหัวใจ ระบบสืบพันธุ์ แต่ถ้าหากสิวสีแดงปลั่ง ร่างกายอาจกำลังเตือนถึงโรคความดันโลหิตสูง หรือใครมีสิวอุดตัน สิวหัวดำเยอะ ๆ บริเวณจมูก อาจเกิดจากฮอร์โมนแปรปรวน มีประจำเดือน กำลังเข้าสู่วัยทอง หรือ ผลจากการกินยาคุมกำเนิด ก็ได้เช่นกัน
วิธีแก้ปัญหาสิวขึ้นที่จมูก : เลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง เลือกทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก อาหารที่มีเส้นใย ผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี ตับ ไข่แดง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นทำความสะอาดใบหน้าอยู่เสมอ
สิวที่กกหู ไรผม
สิวบริเวณกกหู หรือสิวที่ไรผม มักเป็นสิวอักเสบเม็ดใหญ่ ๆ สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการแพ้น้ำยาบำรุงผม หรือล้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม เช่น แชมพู ครีมนวด ครีมบำรุงผมต่าง ๆ ออกไม่หมด หรือสิ่งสกปรกจากโทรศัพท์ที่เรามักใช้แนบหูบ่อย ๆ แต่ถ้ามีสิวอักเสบขึ้นบริเวณกกหูหรือไรผมบ่อย ๆ อาจเป็นไปได้ว่า ไตทำงานหนักเกินไป จากการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ทานอาหารเค็มมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ เช่น ชา กาแฟ หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับรากฟัน มีประจำเดือน
วิธีแก้ปัญหาสิวขึ้นที่กกหูหรือไรผม : เลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง เนื้อสัตว์แปรรูป ควรเน้นทานผักและผลไม้เยอะ ๆ ธัญพืช ดื่มน้ำมาก ๆ และควรไปตรวจเผื่อกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับรากฟัน จะได้พบปัญหาได้ไวและแก้ไขได้ทัน
สิวที่ริมฝีปาก
สิวขึ้นตามมุมปาก ไม่ว่าจะเป็นข้างขวาหรือข้างซ้าย มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะสาว ๆ ที่กำลังมีประจำเดือน
วิธีแก้ปัญหาสิวขึ้นริมฝีปาก : เลี่ยงการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รสหวานจัด เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำเยอะ ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
สิวที่คาง
หากมีสิวขึ้นบริเวณคาง บ่งบอกถึงร่างกายกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย สิวที่คางเกิดจากการทานอาหารรสจัด ทานข้าวไม่ตรงเวลา ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ปกติ รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ
วิธีแก้ปัญหาสิวขึ้นที่คาง : เลือกทานอาหารที่มีกากใยเยอะ ๆ อาหารอ่อน ๆ รสกลาง ๆ ไม่ทานอาหารเยอะเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด