ภาวะหัวใจล้มเหลวในแต่ละช่วงวัยมีอาการอย่างไร รู้ทัน ป้องกันได้ 

ภาวะหัวใจล้มเหลวในแต่ละช่วงวัยมีอาการอย่างไร รู้ทัน ป้องกันได้ 

รู้ไหมว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ Heart Failure สามารถเป็นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์? แต่ถ้ารู้เท่าทัน ก็สามารถป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในท้องเช่นกัน 

ภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร 

ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการบวมตามส่วนต่าง ๆ จากการที่มีน้ำคั่งในร่างกาย ซึ่งอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และอาการของโรคหรือภาวะความรุนแรงในแต่ละวัยอาจแตกต่างกันไป ดังนี้ 

ภาวะหัวใจล้มเหลวในเด็ก 

การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อายุน้อยที่สุดคือตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ เกิดจากหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ หากไม่รีบทำการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธี โดยเด็กที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะขาดสารอาหาร มีพัฒนาการเติบโตช้า ผิวหนังเย็น เหงื่อออกมาก หัวใจโต หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ตับโต อาจเนื่องมาจากการเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 

ภาวะหัวใจล้มเหลวในวัยรุ่น

ภาวะหัวใจล้มเหลวในวัยรุ่น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหัวใจที่อาจไม่รู้ตัวมาก่อน หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือ ลิ้นหัวใจติดเชื้อ สำหรับผู้ที่รู้ตัวมาก่อนตั้งแต่เด็กก็จะมีการดูแลสุขภาพภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่สำหรับวัยรุ่นที่ไม่รู้มาก่อนและไม่เคยตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลันได้ จึงควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ และรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจทันทีหากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ 

  • เหนื่อยง่าย ขึ้นบันไดก็เหนื่อยผิดปกติ 
  • หายใจลำบาก 
  • เจ็บหน้าอกด้านซ้าย 
  • ริมฝีปากมีสีเขียว 
  • ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ 

เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดอาการเฉียบพลัน และรุนแรงจนเสียชีวิตได้ 

ภาวะหัวใจล้มเหลวในวัยผู้ใหญ่ 

สำหรับวัยผู้ใหญ่ นอกจากจะเสี่ยงกับภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดจากโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน เช่น 

  • ไขมันในเลือดสูง 
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 
  • เส้นเลือดหัวใจตีบ
  • ความดันโลหิตสูง 
  • การเต้นหัวใจผิดปกติ 
  • ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว 

อาการหัวใจล้มเหลวที่พบในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ 

  • เหนื่อยง่าย 
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
  • หายใจลำบากเมื่อนอนราบ 
  • ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่สะดวก 
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย 
  • ขาบวม เท้าบวม 
  • มีอาการบวมน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 

หากเคยมีอาการหัวใจขาดเลือด ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้สูงกว่าคนทั่วไป 

ภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้สูงอายุ 

ผู้สูงวัยมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนในวัยอื่น ๆ เนื่องจากความเสื่อมสภาพของอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

  • โรคหัวใจ 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ลิ้นหัวใจผิดปกติ 
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 
  • หลอดเลือดหัวใจอุดตัน 
  • ไขมันในเลือดสูง 

รวมถึงผู้สูงวัยที่มีประวัติการสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน 

อาการหัวใจล้มเหลวที่พบในวัยผู้สูงอายุ ได้แก่

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • รู้สึกแน่นหน้าอก 
  • นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก 
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย 
  • ขาหรือเท้าบวม กดแล้วมีรอยบุ๋ม 
  • หัวใจเต้นเร็ว 
  • มีอาการทางประสาท มึนงง สับสน 
  • เป็นลม หมดสติ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเพศใดหรือวัยใดก็ตาม หากมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการดังที่ได้กล่าวมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการที่ไม่น่าไว้ใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับอาการและวัย และที่สำคัญ ควรตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำ หรือตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้ตรวจพบเจอความผิดปกติและรักษาได้ทันท่วงทีก่อนจะช้าเกินไป  

administrator

Related Articles