ร่างกายของเด็กยังเติบโตไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ และเด็กแต่ละวัยก็มีวิวัฒนาการที่ต่างกันไป โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากยังสื่อสารได้ไม่เต็มที่ การจะบอกว่าเจ็บปวดตรงไหน รู้สึกไม่สบายอย่างไร ยังทำได้ยากกว่าเด็กโต ได้แต่ร้องงอแงเพราะความไม่สบายตัวจากอาการป่วยไข้โรคในเด็ก ทำให้ผู้ปกครองหลายคนรับมือด้วยยาก ทั้งในเรื่องของการคาดเดาอาการ ความรู้สึก การดูแล หรือแม้แต่การป้อนยายาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่พ่อแม่เด็กส่วนใหญ่มักจะเจอ เมื่อบุตรหลานเจ็บป่วย วันนี้แอดมินได้รวบรวมข้อมูลการป้อนยาเด็กแต่ละวัยมาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ปกครองป้อนยาลูกอย่างไรให้ง่ายขึ้น ลองนำไปปรับใช้กันดูค่ะ
วิธีป้อนยาเด็กในแต่ละช่วงวัย
วิธีป้อนยาเด็กแรกเกิด – 1 เดือน
เด็กบ้านไหนที่กินยาไม่ยาก คุณแม่สามารถใช้ไซริงค์ที่ไม่มีเข็ม หรือตัวดูดยาดรอปเปอร์ได้เลย โดยค่อย ๆ ป้อนยาลูกทีละน้อย แต่สำหรับลูกกินยายาก พ่อแม่อาจใช้หลอดดูดยาใส่ลงในจุกนมทีละนิด แล้วให้ลูกค่อย ๆ ดูดยาจากจุกนมแทน
วิธีป้อนยาเด็กอายุ 1 – 12 เดือน
กรณีเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป จนถึงอายุ 12 เดือน หรือ 1 ขวบ ผู้ปกครองควรใช้ไซริงค์ป้อนยา เพื่อเพิ่มปริมาณยา โดยคุณแม่จับลูกนอนหงาย แล้วยกศีรษะขึ้น ควรมีผู้ช่วยคอยชวนเด็กเล่นอย่างใจเย็น ใช้น้ำเสียงอ่อนโยน ไม่กดดันเด็ก จากนั้นใช้ไซริงค์ฉีดยาเข้าไปที่กระพุ้งแก้มของลูกทีละน้อย อาจใช้เวลาในการเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กมากกว่า 10 นาที และระหว่างป้อนยาอาจมีหกไปบ้าง แต่ไม่ควรพยายามป้อนยาซ้ำ
วิธีป้อนยาเด็กอายุ 1 – 6 ปี
กรณีที่ลูกยังกินยาน้ำ สามารถป้อนยาลูกเช่นเดียวกับการป้อนยาเด็กอายุ 1 – 12 เดือน หากจะให้ลูกฝึกกินยาเม็ด แต่เด็กยังกลืนไม่เป็น หากเป็นยาแคปซูลให้ผู้ปกครองแกะแคปซูลเอาแต่ผงยาข้างใน จากนั้นนำผงยาไปผสมกับน้ำหวานข้น ๆ แล้วใช้ไซริงค์ป้อนยาลูก แต่ถ้าเป็นยาเม็ดชนิดแป้ง ผู้ปกครองควรหักยาให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ป้อนยาเด็กทีละส่วนจนกว่าจะหมด
ลูกไม่ยอมกินยา ทำไงดี
วิธีป้อนยาลูกที่กินยายากสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- คุณแม่ควรฝึกป้อนน้ำและน้ำหวานให้ลูกด้วยไซริงค์ในเวลาที่ลูกสบายดี เพื่อสร้างความเคยชินให้กับเด็ด ช่วยให้ป้อนยาได้ง่ายขึ้น
- ผู้ปกครองควรแจ้งหมอในเบื้องต้นว่าลูกกินยายาก เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดยาสำคัญ ๆ เท่านั้น ทำให้ได้ปริมาณยาไม่มากเกิน และคุณหมอบางท่านจะเลือกจัดยาทานง่าย ๆ ให้กับเด็ก
- ควรเลือกยาที่มีรสชาติทานง่ายสำหรับเด็ก กึ่งหวานกึ่งเปรี้ยว ไม่ฝาด ไม่ขม
- ผู้ปกครองควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้อนยาลูกให้พร้อม ก่อนทำการป้อนจริง โดยดูดยาใส่ไซริงค์แยกใส่แก้วเตรียมให้พร้อม
- ผู้ปกครองควรอุ้มเด็กและป้อนยาอย่างใจเย็น โดยค่อย ๆ ป้อนยาทีละน้อย ใช้เวลาสักหน่อย ไม่ควรป้อนยาให้หมดทีเดียว เพราะอาจทำให้ลูกอาเจียนหรือมีอาการสำลักยาได้
- ให้กำลังใจทุกครั้งที่ลูกกินยา และชื่นชมเมื่อลูกกินยาหมด อุ้มปลอบใจ และมีคนคอยช่วยเชียร์ระหว่างป้อนยา
วิธีให้ลูกกินยาเม็ดหรือแคปซูล
วิธีฝึกเด็กให้กินยาชนิดเม็ดหรือแคปซูล สามารถทำได้ดังนี้
แม่เด็กหรือผู้ปกครองควรฝึกให้ลูกกินวิตามินซีชนิดเม็ด วันละ 1 – 2 ครั้ง เมื่อเริ่มมีอายุประมาณ 3 – 5 ปี โดยให้เด็กอมวิตามินซีไว้ใต้ลิ้น แล้วดื่มน้ำตามเล็กน้อย จากนั้นให้เงยหน้ามองเพดาน แล้วบอกให้ลูกกลืนลงไป วิธีนี้จะช่วยให้เด็กกลืนวิตามินซีลงคอง่ายขึ้น และวิตามินซีไม่มีรสขม เมื่อทำแบบนี้บ่อย ๆ จะช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีกินยาเม็ด โดยไม่รู้สึกฝืนหรือกลัวการกินยาเม็ดอีกต่อไป ซึ่งการกินยาเม็ด จะช่วยลดปริมาณการกินยาน้อยลง และลดอาการคลื่นไส้อาเจียนของเด็กได้ด้วย
ป้อนยาเด็กต้องระวังในเรื่องใดบ้าง
การป้อนยาเด็กมีข้อควรระวัง ดังนี้
- ผู้ปกครองไม่ควรหลอกเด็กว่ายามีรสหวาน เพราะเมื่อเด็กทานยาแล้วมันไม่จริง จะทำให้เด็กไม่เชื่อหรือไว้วางใจอีก และจะพาลไม่กินยาอีกเลย ไม่ว่ายานั้นจะหวานหรือทานง่ายแค่ไหนก็ตาม แต่คุณแม่ควรชี้แจงและให้เหตุผลในการกินยา ทำไมต้องกิน กินเพื่ออะไร เช่น ถ้าลูกกินยาจะช่วยให้ลูกหายป่วยไวขึ้น ไปเล่นกับเพื่อน ๆ ได้เร็วขึ้น ทานขนมที่ชอบได้ เป็นต้น
- ไม่ควรผสมยาลงในขวดนม เพราะจะทำให้เด็กได้รับปริมาณยาที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน อีกทั้งแคลเซียมในนมขัดขวางการออกฤทธิ์ของยา ทำให้ลูกกินยาแล้วไม่ได้ผล และการผสมยาลงในนมส่งผลให้รสชาติของนมเปลี่ยนไป ทำให้ลูกไม่ยอมกินนม และปฏิเสธการกินยา
- ห้ามผสมยาหลายชนิดรวมกันแล้วป้อนในหลอดเดียว เพราะสารในตัวยาที่ต่างกันจะทำปฏิกิริยา จนอาจส่งผลให้ฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไปได้ ผู้ปกครองจึงควรป้อนยาลูกทีละชนิด แม้ว่าจะต้องใช้เวลา หรือป้อนยายากก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในยา รสชาติที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฤทธิ์ยา
- หากลูกอาเจียนทันทีเมื่อป้อนยา สามารถป้อนยาซ้ำได้ แต่ถ้าป้อนยาลูกไปสักพักแล้ว จึงค่อยอาเจียนออกมา ไม่ควรป้อนยาซ้ำอีก แต่ให้ข้ามไปป้อนยาในมื้อต่อไปเลย และควรปรึกษาแพทย์ที่สั่งยา เพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง