6 เทคนิค SMEs บริหารคนอย่างไรให้ธุรกิจก้าวหน้า ตามฉบับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ 

6 เทคนิค SMEs บริหารคนอย่างไรให้ธุรกิจก้าวหน้า ตามฉบับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ 

ทุกองค์กร ย่อมต้องการคนทำงานเก่ง ๆ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่คนเก่งอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทระดับแนวหน้า หรือบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียงหยิบมือ มักจะมีคนเก่งและไม่เก่งปะปนกันไป แต่ถ้าผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือเจ้าของกิจการ มีเทคนิคในการบริหารคนเหล่านี้ให้เป็น ก็สามารถทำให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง 

เราได้รวบรวมคำแนะนำการบริหารคนทำงาน จากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก คุณ วรวุฒิ อุ่นใจ รองหน้าหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งเคยได้ให้สัมภาษณ์และแนะนำเทคนิคการบริหารคนในองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นบริษัทหรือกิจการเล็ก ๆ ได้นำไปใช้ในองค์กรของตน โดยคุณวรวุฒิกล่าวว่า ทุกบริษัทจะต้องมีการคละกันระหว่างพนักงานเก่ง ๆ และพนักงานที่ไม่ได้เก่งอะไรนัก โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นกิจการเล็ก ๆ นั้น ยากมากที่จะมีพนักงานโปรไฟล์ดี ๆ มาทำงานด้วย และเป็นไปได้น้อยมาก ที่จะมีแต่พนักงานเก่ง ๆ มารวมตัวกันครบทีม 

ดังนั้น ยิ่งมีพนักงานไม่เก่ง หรือพนักงานที่ประสบการณ์งานน้อย ยิ่งต้องจัดการให้ดี งานถึงจะเดิน โดยมีหลักคิดอยู่ 6 ข้อด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 

1. สอนงานให้มาก 

ยิ่งมีพนักงานไม่เก่ง หรือพนักงานประสบการณ์งานน้อย ยิ่งต้องสอนงานให้มาก ๆ สอนงานให้ละเอียด ซึ่งข้อนี้สำหรับผู้เป็นหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการจะต้องจำใส่ใจเลยว่า พนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ไม่มีประสบการณ์ในด้านตำแหน่งงานนั้น ๆ มาก่อน ไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ต้องใส่ใจที่จะเรียนรู้ และผู้เป็นหัวหน้าควรให้ความใส่ใจ และหมั่นมอบความรู้ที่เหมาะสมต่อหน้าที่งาน ให้เขาได้เรียนรู้และสามารถทำงานได้อย่างชำนาญมากขึ้น แต่ถ้าหากเวลาผ่านไปแล้วยังทำงานไม่ได้ หรือทำงานไม่เก่ง ให้ถือว่าเป็นความผิดของหัวหน้า ดังนั้น หัวหน้าหรือเจ้าของกิจการจะต้องพัฒนาตัวเองไปเป็นโค้ชสอนงานให้เก่งแทน ส่วนใครที่ชอบคิดว่า ไม่จำเป็นต้องสอนงานให้เพราะเดี๋ยวเก่งก็ไปอยู่ที่อื่น คุณวรวุฒิกล่าวว่า ความคิดแบบนี้พังพินาศมาก เพราะการมีคนทำงานไม่เป็น ก็จะไม่สามารถพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าได้ 

2. หมั่นให้โจทย์

หมั่นให้โจทย์งานไปทำ เพื่อจะได้วัดผลสั้น ๆ ยังคงมีจุดด้อย จุดบกพร่องตรงไหน จะได้สอนและแนะเพิ่มเติมให้ตรงจุด โดยการให้โจทย์บ่อย ๆ อย่าปล่อยให้พนักงานไปหาแหล่งเรียนรู้เอาเอง เพราะอาจได้ข้อมูลหรือความรู้มาผิด ๆ พาลทำให้ผลงานออกมาผิดวัตถุประสงค์ เพราะความเข้าใจผิด ดังนั้นการให้โจทย์ จะทำให้ได้ผลชี้ชัดว่า พนักงานมีความเข้าใจเนื้องานของตนอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ทำงานได้ตรงแนวทางกับที่บริษัทหรือเจ้าของกิจการต้องการมากน้อยแค่ไหน รู้ผลเร็ว แก้และปรับได้เร็ว งานผิดพลาดก็น้อยลง งานก็เดินหน้าได้เร็ว 

3. คำชมสร้างกำลังใจ 

ไม่มีใครชอบการถูกตำหนิ และสำหรับคำชมก็ย่อมจะส่งพลังงานบวก และให้ผลที่ดีกว่าการตำหนิเสมอ คนทำงานไม่เก่ง หรือไม่ค่อยได้เข้าหาเจ้านาย แทบจะไม่ได้รับคำชม หรือมักจะถูกตำหนิ ยิ่งโดยเฉพาะการถูกเจ้านายติต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่พลาดมากสำหรับคนที่เป็นระดับหัวหน้า เพราะถึงแม้ว่าคนทำงานไม่เก่งจะทำงานออกมาได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาได้รับคำชม แม้จะเป็นคำชมที่เล็กน้อย แต่ส่งผลให้พวกเขารู้สึกดี และคิดว่าพวกเขาก็ทำได้ ทำให้อยากพัฒนาทำให้ดียิ่งขึ้น เป็นการกระตุ้นที่ส่งผลได้ดีอีกวิธีหนึ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรจะต้องรู้และใช้ให้เป็น 

4. ไม่จับผิด ให้อิสระอย่างเหมาะสม 

แนวโน้มของคนทำงานไม่เก่ง จะมีระเรียบวินัยในตนเองสูงกว่าคนที่ทำงานเก่ง จากสถิติของคนทำงานมักจะพบว่า คนทำงานเก่ง มักจะขาด ลา มาสาย (และอีกส่วนหนึ่งคือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ) บ่อยกว่าคนทำงานไม่เก่ง แต่คนกลุ่มนี้กลับมักจะถูกจับผิด เนื่องจากการที่เขาทำงานไม่เก่งหรือทำงานช้า ทำให้พวกเขารู้สึกได้ชัดถึงความแตกต่างของการถูกปฏิบัติ ทำงานภายใต้ความรู้สึกกดดัน จนผลงานออกมาไม่ดี การแสดงถึงความไว้วางใจ เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะต้องทำได้ และให้อิสระ จะส่งเสริมให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจ สบายใจ ผ่อนคลาย และทำงานออกมาได้ดีกว่าเดิม 

5. มีผลตอบแทนเป็นแรงจูงใจ

แรงจูงใจของคนทำงานทุกคน หนีไม่พ้น รางวัลจากหน่วยงาน อย่าง เงินโบนัส เงินเดือนเพิ่มขึ้น คอมมิชชั่น อินเซ็นทีฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยได้มาก สำหรับพนักงานและแรงงานทุกคน เพราะหลายคนที่มักจะมีความคิดที่ว่า เงินเดือนเท่าเดิม ทำงานเพิ่มก็ไม่มีอะไรดี มีแต่จะขาดทุน ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงของแรงงานทั่วไป แต่ถ้าบริษัทไหนที่มีระบบให้ผลตอบแทนที่แปรผันตามอายุงานและผลงาน รวมไปถึงรางวัลพิเศษตามเทศกาล จะยิ่งส่งผลให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น สังเกตได้จากบริษัทที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หรือองค์กรใหญ่ ๆ จะมีหลักการบริหารแบบนี้ทุกแห่ง แม้ว่าผลตอบแทนแบบนี้จะมีความซับซ้อนแต่ก็นับว่ามันจับต้องได้และให้ผลที่เวิร์คมาก 

6. พนักงานทุกคนคือทรัพยากรสำคัญของบริษัท 

ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการจะต้องมีความคิดเสมอว่า พนักงานทุกคนคือฟันเฟืองที่สำคัญของตน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด ทำงานเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เพราะต่อให้ฟันเฟืองตัวไหนที่ไม่ได้ใหม่กิ๊ก มีสนิมบ้าง แต่ยังใช้งานได้ ยึดอะไหล่ส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรให้ทำงานต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงักจนงานไม่เดิน ดังนั้น คนในหน่วยงานจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญทุกคน 

นอกจากนี้ คุณวรวุฒิยังกล่าวอีกว่า คนทำงานเก่งหรือไม่เก่งไม่สามารถที่จะวัดได้ว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี หลายครั้งที่พบว่าคนทำงานไม่เก่งแต่เป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรมากกว่าคนที่ทำงานเก่ง ๆ เสียอีก สรุปคือ เจ้าของกิจการ หรือผู้เป็นหัวหน้า จะต้องมีความเมตตาต่อทุกคน และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพนักงานทุกคนที่อยู่ในองค์กรให้เก่งได้มากเท่าตามกำลังศักยภาพของแต่ละคน หากทำได้ดังนี้ ธุรกิจก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ด้วยฟันเฟืองที่มีคุณภาพ

administrator

Related Articles