ปัญหาที่คนไทยกำลังเผชิญไม่ได้มีเพียงแค่โรคระบาดเท่านั้น แต่ปัญหาเก่าอย่าง ฝุ่น PM 2.5 วันนี้มันกำลังกลับมาสร้างปัญหาและก่ออันตรายแก่สุขภาพคนไทย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพ เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดกว่า 2.5 ไมครอน ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะขาดความระวัง และไม่ค่อยได้ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอันใหญ่หลวงที่เกิดจากการสะสมของเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นเวลานาน ๆ
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร
ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมคนเรานี่เอง ด้วยขนาดเล็กมากนี้เอง ทำให้เจ้าฝุ่นจิ๋วสามารถลอดผ่านการระบบการกรองในจมูกคนเราเข้าสู่ปอดได้ง่ายกว่าฝุ่นขนาดทั่วไป และไปสะสมจนก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ หรือก่อโรคอื่น ๆ ตามมา
ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน
PM ย่อมาจาก Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ โดยจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ประเภทต่าง ๆ ประมาณ 54% โดยเฉพาะรถดีเซล และจากการเผาไหม้ในที่แจ้งประมาณ 35% อีกประมาณ 11% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และที่เหลืออีก 1% จากปัจจัยอื่น ๆ
แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5
1. PM 2.5 แบบปฐมภูมิ คือ ฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง
- ฝุ่นที่เกิดจากพื้นดิน ถนน โดยจะมีสัดส่วนของฝุ่นจิ๋วนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ฝุ่นจากการก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่ทั่วไป แต่จะมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นฝุ่น PM 2.5
- ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาในครัวเรือน การเผาในทางเกษตรกรรม หรือ การเผาน้ำมันดิบ ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถึง 95% ขึ้นไป
2. PM 2.5 แบบทุติยภูมิ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากปฏิกิริยาลูกโซ่ทางเคมี แล้วเกิดเป็นมลพิษตัวใหม่ขึ้นมา ประกอบไปด้วย
- การเปลี่ยนรูปจากมลพิษปฐมภูมิ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจาก SO2 เปลี่ยนเป็น ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) ที่ทำปฏิกิริยากับไอน้ำในอากาศ จนกลายเป็นหมอกของกรดซัลฟูลิค (H2SO4) และเมื่อไปทำปฏิกิริยากับสารอื่น ๆ ก็จะกลายเป็น ฝุ่นละอองขนาดเล็กของเกลือซัลเฟต หากเกิดในสถานที่ไม่ถ่ายเทอากาศ หรือมวลอากาศไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนได้ หรือเป็นสถานที่ปิด ประกอบกับความกดอากาศต่ำ มีหมอก ก็จะทำให้เกิด หมอกควัน (Smog) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเมืองลอนดอนของประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1952 ที่มีหมอกควันหนายาวนาน 4-5 วัน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย เกิดฝนกรด แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ จนมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้อาศัยในเมือง และมีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นจำนวนมากในหลักพันเลยทีเดียว
- หมอกควันที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีซึ่งมีแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่ง (Photochemical Smog) โดยมีมลพิษปฐมภูมิ คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ทำปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่ โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่ง จนเกิด Nitric oxide (NO) และ Atomic Oxygen (O) ตลอดไปจนถึงกระบวนต่าง ๆ ระหว่างเคมีอื่น ๆ จนทำให้เกิดฝุ่นละออง PM โดยทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งยิ่งใช้รถเป็นจำนวนมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้มีการปล่อย NO , NO2 และ Hydrocarbon ที่เป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นตามไปด้วย
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง
1. ระบบทางเดินหายใจและปอด
ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และยิ่งเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดโรคหอบหืด และยังกระตุ้นอาการผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบได้อีกด้วย และถ้าหากมีฝุ่น pm 2.5 สะสมในระบบทางเดินหายใจและปอดเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด
2. ระบบหัวใจ
เมื่อสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเข้าสู่ภายในร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบ และฝุ่น pm 2.5 ยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจหัวใจวายเฉียบพลันได้
3. ระบบสมอง
ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่เข้าไปสะสมในกระแสเลือด ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและเลือดหนืด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในสมอง และหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว จนเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก จนป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบกับใครบ้าง
- เด็ก เพราะยิ่งอายุน้อยเท่าไร ยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเด็กเล็กป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคยังมีน้อย และอวัยวะต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการ ฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่าย อีกทั้งจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่าง ๆ และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้
- หญิงมีครรภ์ เพราะมลพิษจะส่งผลอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อการแท้งบุตร เพิ่มอัตราการตายของเด็กในครรภ์ หรืออาจทำให้เด็กเกิดมาพิการ มีพัฒนาการทางร่างกายและสมองช้ากลายเป็นเด็กพิเศษ
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากอวัยวะจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ ทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคหอบหืดและโรคหัวใจ และถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวก็จะยิ่งเพิ่มความอันตรายต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
- ผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัว การสูดเอาฝุ่น pm 2.5 เข้าไป จะยิ่งไปกระตุ้นอาการของโรคที่มีอยู่เดิมกำเริบมากขึ้นจนอาจถึงแก่ชีวิตได้