ฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อร่างกายอย่างไรและใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง

ฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อร่างกายอย่างไรและใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง

ปัญหาที่คนไทยกำลังเผชิญไม่ได้มีเพียงแค่โรคระบาดเท่านั้น แต่ปัญหาเก่าอย่าง ฝุ่น PM 2.5 วันนี้มันกำลังกลับมาสร้างปัญหาและก่ออันตรายแก่สุขภาพคนไทย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพ  เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดกว่า 2.5 ไมครอน ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะขาดความระวัง และไม่ค่อยได้ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอันใหญ่หลวงที่เกิดจากการสะสมของเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นเวลานาน ๆ

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร 

ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25  ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมคนเรานี่เอง ด้วยขนาดเล็กมากนี้เอง ทำให้เจ้าฝุ่นจิ๋วสามารถลอดผ่านการระบบการกรองในจมูกคนเราเข้าสู่ปอดได้ง่ายกว่าฝุ่นขนาดทั่วไป และไปสะสมจนก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ หรือก่อโรคอื่น ๆ ตามมา 

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน 

PM ย่อมาจาก Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ โดยจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ประเภทต่าง ๆ ประมาณ 54% โดยเฉพาะรถดีเซล และจากการเผาไหม้ในที่แจ้งประมาณ 35% อีกประมาณ 11% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และที่เหลืออีก 1% จากปัจจัยอื่น ๆ 

แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 

แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5

1. PM 2.5 แบบปฐมภูมิ คือ ฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง

  • ฝุ่นที่เกิดจากพื้นดิน ถนน โดยจะมีสัดส่วนของฝุ่นจิ๋วนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ฝุ่นจากการก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่ทั่วไป แต่จะมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นฝุ่น PM 2.5  
  • ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาในครัวเรือน การเผาในทางเกษตรกรรม หรือ การเผาน้ำมันดิบ ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถึง 95% ขึ้นไป 

2. PM 2.5 แบบทุติยภูมิ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากปฏิกิริยาลูกโซ่ทางเคมี แล้วเกิดเป็นมลพิษตัวใหม่ขึ้นมา ประกอบไปด้วย 

  • การเปลี่ยนรูปจากมลพิษปฐมภูมิ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจาก SO2 เปลี่ยนเป็น ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) ที่ทำปฏิกิริยากับไอน้ำในอากาศ จนกลายเป็นหมอกของกรดซัลฟูลิค (H2SO4) และเมื่อไปทำปฏิกิริยากับสารอื่น ๆ ก็จะกลายเป็น ฝุ่นละอองขนาดเล็กของเกลือซัลเฟต หากเกิดในสถานที่ไม่ถ่ายเทอากาศ หรือมวลอากาศไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนได้ หรือเป็นสถานที่ปิด ประกอบกับความกดอากาศต่ำ มีหมอก ก็จะทำให้เกิด หมอกควัน (Smog) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเมืองลอนดอนของประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1952 ที่มีหมอกควันหนายาวนาน 4-5 วัน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย เกิดฝนกรด แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ จนมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้อาศัยในเมือง และมีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นจำนวนมากในหลักพันเลยทีเดียว 
  • หมอกควันที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีซึ่งมีแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่ง (Photochemical Smog) โดยมีมลพิษปฐมภูมิ คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ทำปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่ โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่ง จนเกิด Nitric oxide (NO) และ Atomic Oxygen (O) ตลอดไปจนถึงกระบวนต่าง ๆ ระหว่างเคมีอื่น ๆ จนทำให้เกิดฝุ่นละออง PM โดยทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งยิ่งใช้รถเป็นจำนวนมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้มีการปล่อย NO , NO2 และ Hydrocarbon ที่เป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5  มากขึ้นตามไปด้วย 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง

1. ระบบทางเดินหายใจและปอด 

ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และยิ่งเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดโรคหอบหืด และยังกระตุ้นอาการผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบได้อีกด้วย และถ้าหากมีฝุ่น pm 2.5 สะสมในระบบทางเดินหายใจและปอดเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด 

2. ระบบหัวใจ 

เมื่อสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเข้าสู่ภายในร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบ และฝุ่น pm 2.5 ยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจหัวใจวายเฉียบพลันได้ 

3. ระบบสมอง 

ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่เข้าไปสะสมในกระแสเลือด ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและเลือดหนืด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในสมอง และหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว จนเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก จนป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้ 

ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบกับใครบ้าง

  1. เด็ก เพราะยิ่งอายุน้อยเท่าไร ยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเด็กเล็กป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคยังมีน้อย และอวัยวะต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการ ฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่าย อีกทั้งจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่าง ๆ และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ 
  2. หญิงมีครรภ์ เพราะมลพิษจะส่งผลอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อการแท้งบุตร เพิ่มอัตราการตายของเด็กในครรภ์ หรืออาจทำให้เด็กเกิดมาพิการ มีพัฒนาการทางร่างกายและสมองช้ากลายเป็นเด็กพิเศษ 
  1. ผู้สูงอายุ เนื่องจากอวัยวะจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ ทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคหอบหืดและโรคหัวใจ และถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวก็จะยิ่งเพิ่มความอันตรายต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น 
  1. ผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัว การสูดเอาฝุ่น pm 2.5 เข้าไป จะยิ่งไปกระตุ้นอาการของโรคที่มีอยู่เดิมกำเริบมากขึ้นจนอาจถึงแก่ชีวิตได้
administrator

Related Articles