รู้เท่าทัน “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ก่อนระบาดเข้าเมืองไทย 

รู้เท่าทัน “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ก่อนระบาดเข้าเมืองไทย 

“ไข้หวัดมะเขือเทศ” หรือ Tomato Flu ชื่อที่ไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่สำหรับวงการแพทย์ และผู้ที่ติดตามข่าวสาร ย่อมจะเคยได้ยินอย่างแน่นอน เนื่องจากไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นโรคติดต่อที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศอินเดีย และบางประเทศขณะนี้ แต่ยังไม่กระจายเป็นวงกว้างมากนัก จึงยังทำให้ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า มันคือโรคชนิดใด และโรคนี้สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องหยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้ 

เนื่องจากโรคไข้หวัดมะเขือเทศนี้ที่กำลังระบาดในรัฐเกรละ ประเทศอินเดียขณะนี้ สามารถติดกันได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสเท่านั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านกังวลว่าจะแพร่กระจาย และลุกลามไปยังหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ระบุบนข้อความผ่านทางเฟสบุค Center for Medical Genomics โดยมีหัวข้อเรื่อง ไข้หวัดมะเขือเทศ ดังนี้ 

จากการที่ได้มีการถอดพันธุกรรมจากตัวอย่างสวอปตุ่มแผลของผู้ป่วย 2 ราย พบว่า ไข้หวัดมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อไวรัส คอกซากี A16 (Coxsackie A16) ที่ก่อให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก (Hand , Foot and Mouth Disease) ซึ่งไม่ใช่เชื้อโรคตัวใหม่แต่อย่างใด แต่ที่กระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกมายืนยันแล้วว่า ได้พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศในประเทศอินเดีย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึง ณ ขณะนี้ ก็พบผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ นับร้อยกว่ารายแล้ว และพบระบาดมากที่สุดคือ Kerala (รัฐเกรละ เป็นรัฐที่พบไวรัส-19 และไวรัสฝีดาษลิง ระบาดมากเช่นกัน) และพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odisha 

ที่มาของชื่อไข้หวัดมะเขือเทศและการแพร่เชื้อ 

ไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นชื่อเรียกในท้องถิ่น เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะมีผื่นแดง เป็นจ้ำและจุดแดง คล้ายมะเขือเทศ โดยกลุ่มเสี่ยงและติดได้ง่ายคือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งไวรัสชนิดนี้จะแพร่ได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด การนำสิ่งของเข้าปาก ฯลฯ โดยเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีการระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด 

อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ 

ผู้ป่วยเมื่อได้รับเชื้อ จะมีอาการขั้นแรก คล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว จากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว เป็นตุ่มน้ำสีแดงคล้ายมะเขือเทศ และอาการอื่น ๆ คล้ายกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก และโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นโรคฤดูกาล หรือโรคระบาดหน้าฝนที่พบบ่อยในเด็กทุกปี อาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ และยังไม่พบอาการที่อันตรายจนน่ากังวล 

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศในประเทศไทย แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้งเด็ก ๆ ก็ป่วยได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวัง และดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่น และอุปกรณ์ทุกชนิดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ รวมไปถึงบริเวณที่เด็กอาศัยอยู่เป็นประจำ เพื่อลดการสะสมและการแพร่กระจายของเชื้อโรค อีกทั้งต้องคอยติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับโรคเจ็บป่วยอยู่เสมอ เพื่อจะได้เตรียมรับมือในการช่วยเหลือบุตหลานได้ทันท่วงที และดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม 

administrator

Related Articles