หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานไทยผิดกฏหมายในเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคิดเป็นร้อยละ 70-75 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานต่างชาติอื่น ๆ
เมื่อมองย้อนกลับไป แรงงานไทยเริ่มเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ. 2531 อันเนื่องมาจากในขณะนั้น ทางเกาหลีใต้ขาดแรงงาน และแรงงานไร้ฝืมือ เนื่องจากค่านิยมของคนเกาหลีใต้ที่หันเหไปทำงานในกิจการขนาดใหญ่ ที่กิจการทางเทคโนโลยี และปฏิเสธการทำงานในกิจการขนาดเล็ก หรืองานที่ต้องใช้แรงงาน งานหนัก ลำบาก สกปรก และเสี่ยงอันตราย ประกอบกับสวัสดิการแรงงานเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนไทยหลั่งไหลเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่กฏหมายของเกาหลีใต้ปี 2022 (Exit and Entry Control Act 1977) ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติทำงานในเกาหลีใต้ ยกเว้น รูปแบบแรงงานไทยในเกาหลีถูกกฏหมาย ซึ่งเป็นงานพิเศษบางประเภท การเข้าฝึกอบรม หรือทำงานในบริษัทร่วมทุนของเกาหลีใต้ (พอจะคุ้น ๆ คล้ายกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในไทยไหมเอ่ย)
ผีน้อย ต้นเหตุปัญหาคนไทยเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ยากขึ้น
ปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ สู่การเป็นผีน้อย ปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากการ สื่อสาร ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่พูดภาษาเกาหลีไม่ได้ ทำให้มักถูกนายจ้างเอาเปรียบได้ง่าย อีกทั้งข้อจำกัดของแรงงานไทยในเกาหลี ถูกกฏหมายของ EPS (Employment Permit System) หรือแรงงานนอกระบบที่จัดส่งผ่านรัฐฯ กำหนดให้คนที่จะไปขายแรงงานที่เกาหลีใต้ จะต้องผ่านการเรียนและสอบภาษาเกาหลี แต่คนส่วนใหญ่ไม่รอที่จะเรียนหรือสอบ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีการรับประกันใด ๆ ว่าสอบผ่านแล้วจะถูกเรียกตัวไปทำงาน เพราะเป็นการสุ่มรายชื่อแรงงานในอัตรา 1 ต่อ 5 ของผู้ที่สอบผ่านภาษาเกาหลี
ไม่เพียงแค่นั้น ข้อจำกัดในด้านอายุของแรงงานไทยจะต้องมีอายุไม่เกิน 39 ปี รวมถึงสภาพเพศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่ต้องการแรงงานชายมากกว่าแรงงานหญิง อันด้วยลักษณะงานที่มักเป็นอุตสาหกรรมหนัก ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้แรงงานไทยจำนวนมากเลือกวิธีไปเกาหลีแบบผีน้อย และจากกลุ่มแรงงานที่เคยเดินทางไปก่อนหน้านี้หลายปี ทำงานจนสามารถตั้งตัวและอาศัยอยู่ที่เกาหลีใต้เป็นหลัก แม้ว่าจะหมดสัญญาว่าจ้างแล้วแต่ก็ไม่ยอมกลับประเทศบ้านเกิดของตน แถมยังมีการชักชวนญาติพีน้อง เพื่อนและคนรู้จักไปทำงานด้วยกัน จนรวมกลุ่มกลายเป็นสังคมผีน้อยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นชนวนที่ทำให้ทางเกาหลีใต้ต้องมีมาตราการเข้มข้น ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้ยากขึ้นกว่าเดิม แม้จะเป็นการเดินทางเข้าประเทศในฐานะนักท่องเที่ยว หรือไปเกาหลีใต้ในด้านการทำงานส่วนอื่น ๆ เช่น มิลลิ นักร้องสาวแรปเปอร์รุ่นใหม่ชื่อดังของต้นสังกัด YUPP! ที่ต้องยกเลิกเข้าร่วมงานคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรี Hiphopplaya Festival ที่เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา จากปัญหาเรื่องของวีซ่านั่นเอง นอกจากนี้ยังมีศิลปินและดาราไทยอีกจำนวนหลายคนที่เคยได้ออกมาแถลงว่ามีปัญหาเรื่องวีซ่าจนไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ ทั้งที่บินไปถึงสนามบินแล้วเกาหลีแล้ว แต่ถูกกักตัวที่ ตม.และถูกให้บินกลับไทยทันที
อีกปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้าม คือ เรื่องของเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ไม่เอื้ออำนวยแก่คนชนชั้นแรงงาน จึงต้องดิ้นรนหาทางไปทำงานนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดของตนและครอบครัว ประจวบเหมาะกับนายจ้างในเกาหลีใต้เองก็ต้องการแรงงานราคาถูกจำนวนมาก เนื่องจากคนเกาหลีรุ่นใหม่เลี่ยงและปฏิเสธงานหนัก เช่น งานโรงงาน งานด้านเกษตรกรรม จึงเป็นช่องทางให้แรงงานไทยเข้าสู่การทำงานอย่างผิดกฏหมาย ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างที่ต้องการแรงงานราคาถูก และฝั่งแรงงานไทยที่ต้องการผลตอบแทน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผีน้อยจำนวนมากที่ปักหลักทำงานในเกาหลีใต้ เพราะคำนึงถึงรายได้เพื่อส่งกลับไปยังครอบครัวในเมืองไทย ญาติพี่น้องและเพื่อนอาจคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความเป็นอยู่อย่างสบาย จึงสามารถส่งเงินกลับมาไทยให้พี่น้องอยู่อย่างไม่ลำบาก แต่จากข่าวแรงงานไทยในเกาหลีล่าสุดที่ทำงานหนักจนเสียชีวิตภายในห้องพักแคบ ๆ และนายจ้างได้โยนศพทิ้งที่ด้านหลังฟาร์มเลี้ยงหมู เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดจากการรับผีน้อยเข้าทำงาน ซึ่งถือว่าทำผิดกฏหมายอาจถูกจับหรือปรับไม่น้อยเลยทีเดียว
จากภาพข่าวที่มีการนำเสนอถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ สภาพของที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการด้านสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สามารถไปหาหมอเพื่อรักษาได้ ไร้ซึ่งสิทธิ์ต่าง ๆ ตลอดช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ในที่แคบ ๆ หรือแออัด ไร้คุณภาพชีวิต และต้องทำงานหนัก แถมยังมีโอกาสสูงมากที่จะถูกนายจ้างเอาเปรียบทุกวิถีทาง ดังนั้น สำหรับแรงงานไทยรุ่นต่อไปควรต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ คุ้มแค่ไหน ระหว่าง สิ่งที่ได้มา กับการสูญเสีย จากการเป็น ผีน้อย ในเกาหลีใต้