5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง เลี่ยงได้เลี่ยง ถ้าไม่อยากกินยาตลอดชีวิต

5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง เลี่ยงได้เลี่ยง ถ้าไม่อยากกินยาตลอดชีวิต

โรคฮอตฮิตของคนไทย ขึ้นอันดับต้น ๆ ที่เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็น ได้แก่ “โรคเบาหวาน” คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ หรือให้พลังงานแก่อวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และหากปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยโรคเบาหวานเมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องกินยาควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองตลอดชีวิต ดังนั้น หากไม่อยากป่วยเป็นโรคเบาหวาน สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือยังไม่ป่วยเบาหวาน ควรปรับเปลี่ยนและหยุดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่โรคเบาหวาน แล้วพฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง ไปเช็กกันหน่อยดีกว่า ใช่เราหรือไม่ จะได้ลด ละ เลิก ก่อนที่จะสาย กลายเป็นผู้ป่วยเบาหวานในอนาคต 

โรคเบาหวานเกิดจากอะไร 

สาเหตุของโรคเบาหวานเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

1. โรคเบาหวานเกิดจากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ตับอ่อน การทำงานของตับในการผลิตอินซูลิน (Insulin) มีความบกพร่อง หรือมีความผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอต่อการใช้งาน 

2. กรรมพันธ์ุ 

3. มีอายุมากขึ้น 

4. การตั้งครรภ์ 

5. พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารที่กิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย กิจกรรมในแต่ละวัน เป็นต้น 

6. โรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน 

5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวาน มีดังนี้ 

1. กินอาหารรสจัด 

คนไทยกับอาหารรสจัดจ้านเป็นของคู่กันมานาน ไม่ว่าจะรสเค็มจัด รสหวานจัด รสเผ็ดจัด หรือรสเปรี้ยวจัด แต่รู้ไหมว่า การกินอาหารรสจัด คือ จุดเริ่มต้นของการนำไปสู่โรคต่าง ๆ โรคเบาหวานก็เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินอาหารรสหวานจัด หรือการกินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง ทำให้มีการสะสมน้ำตาลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวานในที่สุด 

2. น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือมีภาวะอ้วน  

ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเข้าใจกันง่าย ๆ คือ คนอ้วน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีไขมันสะสมในร่างกายสูง ทำให้ตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินต้องทำงานหนัก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้การผลิตน้ำตาลอินซูลินได้น้อยลง จนไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ 

3. ไม่ออกกำลังกาย 

การออกกำลังกาย ได้ขยับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานในรูปแบบน้ำตาล หากไม่มีการออกกำลังกายเลย ทำให้ร่างกายไม่สามารถดึงน้ำตาลส่วนเกินไปใช้ได้ ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั่นเอง 

4. ความเครียดสะสม 

เมื่อเรามีความเครียดสะสมเรื้อรัง จะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย เนื่องจากเวลาที่เราเครียด ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่มีหน้าที่กำจัดความเครียดและสร้างพลังงานให้ร่างกายออกมามาก ส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลจะไปกระตุ้นให้ร่างกายปลอ่ยพลังงานออกมาในรูปแบบของน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ 

5. ดื่มแแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะส่งผลให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ หรือเกิดความผิดปกติในกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน รวมไปถึงการสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน เพราะนิโคตินในบุหรี่จะไปขัดขวางการทำงานของตับ และมีส่วนทำหใ้การทำงานของอินซูลินแย่ลงด้วยเช่นกัน 

โรคเบาหวานมีกี่ประเภท 

โรคเบาหวานถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 

1. โรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน 

โรคเบาหวานชนิดนี้ เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่ต่อความต้องการนำไปเผาผลาญน้ำตาล โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถสร้างได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และมักจะมีอาการของโรคเบาหวานรุนแรง 

2.โรคเบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน 

เบาหวานชนิดที่ 2 คือ ตับอ่อนของผู้ป่วยสามารถสร้างอินซูลินได้ปกติ แต่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือไม่ตอบสนองเลย ทำให้เกิดการดื้ออินซูลิน หรือภาวะต่อต้านอินซูลิน โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ กว่า 90% จะป่วยเป็นเบาหวานชนิดนี้ 

อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน 

  1. ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน 
  2. หิวบ่อย ทานมากขึ้น 
  3. น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
  4. มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  5. แผลหายช้ากว่าปกติ 
  6. มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า 
  7. ผิวหนังบริเวณคอ รักแร้ มีสีเข้มขึ้น หรือหน้าท้องแตกลาย 
  8. มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น 
administrator

Related Articles