ช้าง สัตว์ใหญ่ใจดี สัญลักษณ์ประจำชาติไทย และเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ แต่ถึงอย่างนั้น คนไทยก็มักจะเรียกลักษณะนามช้างผิดอยู่เสมอ หรือแม้แต่สื่อต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับช้าง ก็ยังมีบางสื่อข่าวเรียกช้างผิดประเภทหรือสลับกันอยู่บ่อยครั้ง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงการเรียกช้างอย่างไรให้ถูกต้อง ช้างเรียกเป็นตัวหรือเชือก ช้างบ้านเรียกเป็นอะไร งาช้างเรียกเป็นอะไร และได้เห็นมุมมองที่น่ารักของช้างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน และถ้าคุณได้รู้จักช้างมากขึ้น คุณอาจจะหลงรักสัตว์ตัวใหญ่ที่แสนจะใจดีนี้ เหมือนอย่างที่เราหลงรักมาแล้ว
ลักษณะทั่วไปของช้างไทย
ช้างไทยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ตัวช้างจะมี สีเทา ไม่ว่าจะเป็น สีเทาเข้ม เทาอ่อน เทาขาว แต่ก็มีสีอื่นบ้าง อย่างสีอ่อน ซึ่งเป็น ช้างเผือก หรือมีสีด่าง เป็นสัตว์ใจดี อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรักสามัคคี แต่ช้างตัวผู้ตกมันจะมีความดุร้ายมาก
ช้างเรียกเป็นอะไรกันแน่
ช้างไทยจัดอยู่ในประเภทช้างเอเชีย ซึ่งบ้านเราจะมีคำเรียกช้างตามลักษณะและเพศช้าง ดังนี้
- ช้างป่า ลักษณะนาม คือ ตัว เช่น ช้างป่าตัวนั้น ช้างป่า 1 ตัว
- ช้างบ้าน ลักษณะนาม คือ เชือก รวมถึงช้างป่าที่ถูกนำมาฝึกใช้งานเป็นช้างบ้าน เช่น ช้าง 3 เชือก
- ช้างขึ้นระวางเข้าทำเนียบหรือช้างประจำการ ลักษณะนาม คือ ช้าง เช่น ช้าง 1 ช้าง
- ช้างหลายตัว ลักษณะนาม คือ โขลง ซึ่งเป็นการอยู่รวมกันเป็นฝูงนั่นเอง เช่น ช้างโขลงนี้
- ช้างเพศผู้มีงา เรียกว่า พลาย หรือ ช้างพลาย
- ช้างเพศผู้ไม่มีงา เรียกว่า สีดอ หรือ ช้างสีดอ
- ช้างเพศเมีย เรียกว่า พัง หรือ ช้างพัง
นอกจากนี้ คำที่ใช้เรียกช้าง หรือคำที่มีความหมายถึงช้างยังมีอีกหลายคำด้วยกัน เช่น คช คชสาร กุญชร ดมไร เจ่ง เป็นต้น
ทำความรู้จักกับช้างไทยให้มากขึ้น
งาช้างเรียกเป็นอะไร
งาช้าง คือฟันตัดแถวบนที่งอกออกมาจากปากช้าง และลักษณะนามเรียกงาช้าง คือ กิ่ง สามารถเรียกงาช้างอย่างอื่นได้อีก เช่น ทาฐะ ทาฒะ ทนต์ ทันต์ นาคทนต์
- งาเนียม คือ งาช้างขนาดใหญ่ แต่สั้น และชี้ตรง
- งาเครือ คือ งาช้างที่ยาวมาก แต่วงรอบเล็ก
- ขนาย คือ งาของช้างพัง
- สนับงา คือ เนื้อหุ้มที่โคนงาช้าง
ช้างบอกรักด้วยงวง
งวงช้าง คือ จมูกของช้างที่ยื่นยาวออกมา ตรงปลายมีจะงอยสำหรับจับของ งวงช้างเรียกอย่างอื่นได้อีกว่า ภุช ภูโช วารณกร และมีอวัยวะที่มีรูปโป่งคล้ายลูกน้ำเต้าซึ่งอยู่ที่โคนงวงช้าง เรียกว่า “น้ำเต้า” และนอกจากช้างจะใช้งวงในการดมกลิ่นแล้ว ช้างยังใช้งานเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก และบ่งบอกถึงอารมณ์
แสดงทักทาย หรือ
- แสดงความรัก โดยช้างตัวผู้จะคล้องงวง ดุนจมูก หรือวางงวงในปากของอีกฝ่าย
- ทักทาย หรือ เล่นกับเพื่อน
- แสดงอำนาจ โดยการชูงวงขึ้น
- ยอมแพ้ โดยการลดงวงลง
หูของช้างเปรียบเสมือนใบพัด
หูช้าง มีลักษณะเป็นหนังชั้นบางมาก โดยถูกขึงอยู่เหนือกระดูกอ่อน และมีหลอดเลือดจำนวนมากในบริเวณนี้ ในวันที่มีอากาศร้อน ช้างจะกระพือหูอย่างต่อเนื่องในการสร้างลมเพื่อลดอุณหภูมิในหลอดเลือด ให้เลือดได้ไหลเวียนทั่วร่างกาย ซึ่งการกระพือหูช้างนั้นสามารถลดอุณหภูมิได้ถึง 6 องศาเซลเซียส! และสามารถสังเกตอารมณ์ของช้างได้จาก ใบหู เช่นกัน
- มีความสุข ช้างจะแกว่งหู สะบัดหาง
- โกรธ ช้างกางใบหู และอาจชึ้หางขึ้นฟ้า (เตรียมต่อสู้)
ช้างเป็นสัตว์สังคม มีความเสียสละ และปกป้องตัวที่อ่อนแอกว่า
ช้างอาศัยรวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่รวมกันเป็นฝูง หรือที่เรียกว่า โขลง โดยส่วนใหญ่มีช้างพังอายุมากเป็น จ่าโขลง ช้างตัวที่โตหรือที่แข็งแรงจะคอยดูแลและปกป้องตัวที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะช้างเด็กที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งจากแม่ช้างตัวจริง และช้างทุกตัวในโขลง จะช่วยกันดูแลและปกป้องดั่งเป็นลูกของตน จะให้ช้างเด็กอยู่ตรงกลางโดยมีช้างตัวใหญ่คอยห้อมล้อมและหันหน้าออกข้างนอกเพื่อระวังภัย
ช้างเป็นสัตว์ชอบเล่นน้ำ และบ่อยครั้งที่จะมีช้างบางตัวไม่สามารถขึ้นจากบ่อน้ำได้ อาจด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โตของตัวช้างเอง หรือเป็นเพราะขอบบ่อเป็นดินร่วนทำให้ขึ้นจากบ่อได้ลำบาก จะมีช้างที่เสียสละตัวเองเป็นบันได ด้วยการยืนนิ่ง ๆ เพื่อให้เพื่อนช้างเหยียบตัวขึ้นไปจนครบทุกตัว จนบางครั้งตัวที่เสียสละเป็นบันไดไม่สามารปีนขึ้นได้ หลังจากที่ทุกตัวขึ้นฝั่งครบแล้ว แม้ช้างตัวที่เหลือจะพยายามช่วยกันเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ช้างผู้เสียสละตัวนั้นก็จะส่งเสียงร้อง เพื่อให้ชาวบ้านหรือเจ้าที่ได้ยินและมาทำการช่วยเหลือ
ช้างตกมันคืออะไร
การตกมันเกิดขึ้นได้ทั้งช้างเพศผู้และช้างเพศเมียที่มีร่างกายสมบูรณ์ในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อช้างตกมัน จะมีน้ำมันใส ๆ ไหลออกมาจากต่อมน้ำมันที่ขมับของช้าง ทำให้ช้างมีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ดุร้าย และมีกลิ่นสาบฉุน ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงฤดูหนาว แต่ก็จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอื่นด้วยเช่นกัน เช่น อารมณ์ของช้างตัวเมีย (ช้างผสมพันธุ์ได้ตลอดปี) ความเครียด เป็นต้น
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
หากใครเคยดูละครพีเรียด ละครไทยโบราณ อาจเคยได้ยินคำเหล่านี้มาบ้าง
- จัตุลังคบาท คือ เจ้ากรมพระตำรวจหลวงประจำ 4 เท้าช้างทรงของมหากษัตริย์ที่ออกรบในสงคราม
- ดุษฎีสังเวย คือ บทร้อยกรองที่แต่งเป็นฉันท์ใช้กล่อมช้าง
- คชาชีพ คือ คนเลี้ยงช้าง หมอช้าง ควาญช้าง
- ตะพุ่น คือ คนหลวงที่ถูกเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง
- ตะพุ่นหญ้าช้าง คือ คนที่ถูกลงโทษอาญาหลวงในสมัยโบราณ ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง
เดี๋ยวนี้ช้างได้รับความสนใจมากขึ้น จากความน่ารักและความใจดีที่เห็นได้จากสื่อโซเชียลต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอให้ชมได้หลายช่องทาง โดยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายทอดในช่องยูทูปจากชุมชนและหมู่บ้านเลี้ยงช้างทางภาคอีสานของไทย หรือวิดีโอที่แสดงถึงความน่ารักของช้างในอากัปกิริยาต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และหน่วยงานสัตว์แพทย์ แต่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากใครติดตามเรื่องช้าง จะทราบกันดีว่า ช้าง เสี่ยงที่จะกลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ โดย น้ำมือมนุษย์ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ไม่ว่าจากการล่าเอางาช้าง การฆ่าช้างใหญ่เพื่อนำช้างเล็กมาใช้ในการหาเงิน หรือการบุกรุกและขับไล่หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช้างของโรงงานอุตสาหกรรม เราทุกคนควรร่วมอนุรักษ์ช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยและมีความผูกพันธุ์กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชนและคนไทยทุกคน ทำความรู้จักกับช้างให้มากขึ้น เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากส่วนของช้าง เช่น การสะสมงาช้าง กำไลงาช้าง หางช้าง ฯลฯ และให้การช่วยเหลือช้างในรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช้างไว้ไม่ให้สูญพันธุ์จนเหลือเพียงแค่คำเล่าขานให้ลูกหลานฟัง